วันศุกร์ที่ 13 กันยายน พ.ศ. 2567

เส้นทางท่องเที่ยวสายศรัทธา จังหวัดพิจิตร นครสวรรค์

 


ในทริปนี้เราเริ่มเดินทางจาก กรุงเทพฯ มุ่งหน้าสู่จังหวัดพิจิตร ซึ่งตรงกับงานประเพณีแข่งเรือยาวชิงถ้วยพระราชทาน หน้าวัดท่าหลวง 

แต่ก่อนที่เราจะไปแวะดูแข่งเรือยาว เรามาสักการะหลวงพ่อโต พระพุทธรูปปูนปั้นสมัยกรุงศรีอยุธยาที่มีอายุประมาณ 300 ปี  ที่ วัดโพธิ์ประทับช้าง กันก่อน ซึ่งวัดนี้เป็นเมืองโบราณสถานที่สร้างขึ้นเมื่อประมาณ พ.ศ.2224-2244 คนพิจิตรและคนทั่วไปให้ความเคารพนับถือจำนวนมาก ล่าสุดในวันที่ผมเดินทางมา อุโบสถเก่าอยู่ระหว่างบูรณะจากกรมศิลปากร นอกจากนั้นที่นี่มีนกธรรมชาติที่หน้าตาคล้ายกันถึง 3 สายพันธุ์ ทั้งนกแก้วโม่ง นกกะลิง นกแขกเต้า 





มาวันแข่งเรือยาวก็ต้องไปดูสักหน่อยที่วัดท่าหลวง พระอารามหลวง แต่ก่อนที่จะดูแข่งเรือยาว เราต้องกราบสักการะหลวงพ่อเพชร องค์หลวงพ่อเพชรเป็นพระพุทธรูปสมัยเชียงแสนรุ่นแรกหล่อด้วยโลหะสำริด ปางมารวิชัย ขัดสมาธิเพชร ซ้ายสังฆาฎิสั้นเหนือพระอุระ สร้างในระหว่างปีพุทธศักราช ๑๖๖๐ ถึง ๑๘๘๐ สร้างมาแล้วประมาณ ๘๘๒ ปี หลวงพ่อเพชรยังเป็นพระพุทธรูปทรงอานุภาพอันศักดิ์สิทธิ์ ด้วยกิตติศัพท์นานัปประการเมื่อใครได้ไปเที่ยวเมืองพิจิตรจะต้องไปนมัสการ หลวงพ่อเพชร เพื่อความเป็นสิริมงคลแก่ตนเอง








งานแข่งเรือยาวที่วัดท่าหลวง เป็นสนามใหญ่ ที่มีเรือเข้าลงแข่งขันเป็นจ้าวฝีพายจำนวนมาก บรรยากาศเต็มไปด้วยความสนุก ท่ามกลางเสียงพากษ์และเสียงเชียร์ ที่มีเยอะไม่แพ้กันคือของกิน ภายในงานมีของกินขายเยอะมาก เรียกได้ว่าถ้าซื้อทุกร้านมีล้มละลายแน่นอน 


ตกเย็นไปเดินเล่นพักผ่อนกันต่อที่ Land Mark แห่งใหม่ของ จ.พิจิตร ที่ บึงสีไฟ ต้องขอ บอกว่า บึงสีไฟ กำลังเป็นที่นิยมของคนพิจิตรและจังหวัดใกล้เคียง ด้วยบรรยากาศริมน้ำ มีที่ปั่นจักรยานและช่องทางวิ่ง มีอาหารกินง่ายๆ ขนม เครื่องดื่มขายเยอะมาก นอกจากนั้นยังมีโต๊ะเก้าอี้แคมป์ปิ้งและจักรยานให้เช่า แค่มาครั้งแรกก็หลงใหลในบรรยากาศ บึงสีไฟ นอกจะเป็น Land Mark แห่งใหม่ ยังเป็นแหล่งที่สร้างรายได้ให้คนในพื้นที่และกระตุ้นเศรษฐกิจ








วันที่ 2 ของการเดินทาง เราไปที่วัดพฤกษะวัน เพื่อเข้าร่วมพิธี พุทธาภิเษกองค์หลวงพ่อเพชร โดยเกจิสายภาวนา หลวงพ่อพิมพ์ วัดพฤกษะวัน หลวงปู่ภู วัดท่าฬ่อ หลวงตาหมู วัดดงป่าดำ และชมการสักยันต์ ซึ่งหลวงพ่อเพชรที่ผ่านการทำพิธี ทาง ททท.สำนักงานจังหวัดนครสวรรค์ จะนำมาแจกให้นักท่องเที่ยวที่เข้าร่วมกิจกรรมท่องเที่ยวสายศรัทธา จังหวัดพิจิตร นครสวรรค์ ส่วนขั้นตอนและวิธีการรอติดตามได้ที่เพจ ททท.สำนักงานนครสวรรค์-พิจิตร










ไปกันต่อที่ ศาลเจ้าพ่อแก้ว ที่คน บางมูลนาก ให้ความเคารพนับถือและเดินเล่น ตลาดชุมชนบางมูลนาค ภายในตลาดมีความพื้นบ้านดั่งเดิมและมีภาพอาร์ตในตลาดจำนวนมากให้เดินเล่นถ่ายรูป มีแหล่งเรียนรู้ชุมชน พิพิธภัณฑ์ให้ดูอย่างเพลิดเพลินและดูศาลเจ้าพ่อแก้วหลังเก่าริมน้ำ เผลอแป๊ปเดียวหมดเวลาเพราะต้องเดินทางไปที่ บึงบรเพ็ด




















ช่วงนี้พี่ด่าง (จระเข้) กำลังดังเลยขอแวะมาหาพี่ด่าง น่าเสียดายไม่เจอพี่ด่างแต่ได้เจอพวกพี่ด่าง 4 ตัว ถือว่าทดแทนกันไปแบบฟินๆ







ปิดท้ายวันที่ 2 ด้วย พาสาน Land Mark ที่เป็นจุดบรรจบของแม่น้ำ 4 สาย ปิง วัง ยม น่าน ต้องขอบอกว่าจุดนี้เหมาะกับการมาเดินเล่นพักผ่อนช่วงเย็น มีมุมถ่ายรูปสวยๆเยอะมาก เรียกได้ว่าอยู่จนค่ำเพราะความเพลิน






วันที่ 3 ของทริป เช้านี้เข้าร่วมงานเทวภิเษกแผ่นทอง เจ้าแม่ทับทิม ซึ่งแผ่นทองนี้ทาง ททท.นครสวรรค์ จะทำการแจกให้นักท่องเที่ยวตามเงื่อนไขต่อไป 

บรรยากาศในงานเทวภิเษกแผ่นทองเป็นไปด้วยความขลังที่มีร่างทรงเจ้าพ่อ กวนอู และร่างทรง เจ้าเเม่ทับทิม (โผโต่ว) ทำการเทวภิเษกแผ่นทอง โดยมีผู้ว่าราชการจังหวังนครสวรรค์และราชการหลายภาคส่วนเข้าร่วมพิธี








ด้วยความที่จังหวัดนครสวรรค์มีคนไทยเชื้อสายจีนจำนวนมาก ทำให้มีศาลเจ้าในจังหวัดเยอะเหมือนกัน เราเลยไปกันต่อที่ ศาลเจ้าแม่หน้าผา เพื่อสักการะอีกสักที่ก่อนที่จะปิดท้ายการเดินทางของทริปที่ วัดหนองโพธิ์ 





วัดหนองโพธิ์ หลวงพ่อเดิม  "เทพเจ้าแห่งเมืองสี่แคว" เกจิอาจารย์ ที่มีชื่อเสียงเลื่องลือในเรื่องวิทยาคมและเครื่องรางของขลัง จนเป็นที่เลื่องลือ โดยเฉพาะเหรียญ หลวงพ่อเดิม รุ่นแรก มีดหมอหลวงพ่อเดิม สิงห์งาแก กับประวัติศาสตร์ที่ยาวนาน โดยที่วัดมีพิพิธภัณฑ์ให้ได้เรียนรู้ความเป็นมาของยุคสมัยโดยมีน้องนักเรียนคอยให้คำบรรยายอย่างละเอียด










จบทริป 3 วัน เส้นทางท่องเที่ยวสายศรัทธา จังหวัดพิจิตร นครสวรรค์ อิ่มบุญ อิ่มใจ ทั้งวัด ทั้งศาลเจ้าประเพณีและธรรมชาติ เส้นทางนี้เดินทางได้ง่ายไม่ลำบาก สามารถเดินตามรอยเส้นทางนี้ได้เลย พร้อมได้รับหลวงพ่อเพชรและแผ่นทอง ส่วนวิธีการจะมาแจ้งอีกครั้งครับ


#มหัศจรรย์แห่งศรัทธาสายธาราปิงวังยมน่าน
#ทททสำนักงานนครสวรรค์
#AmazingThailand
#สุขทันทีที่เที่ยวไทย





ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น